
นับตั้งแต่ประเทศจีนได้มีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๔๙ ทรัพยากรป่าไม้ใน
ประเทศจีนได้ลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในปริมาณมหาศาล แรงกดดันจากภายในและภายนอกประเทศด้านปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ประเทศจีนต้องปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศ มาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าไม้ในระดับนโยบายตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๘ และได้ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ จะต้องมีพื้นที่ป่าไม้ครอบคลุมร้อยละ ๒๖ ของพื้นที่ทั้งหมด มีการผลักดันแผนงานสำคัญ คือ The Six Key Forestry Programs ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จในด้านการเพิ่มปริมาณจำนวนป่าไม้ภายในประเทศอย่างชัดเจน นอกจากนี้การจัดการป่าไม้ยังแปรสภาพจากความรับผิดชอบของรัฐเป็นความรับผิดชอบของคนในท้องถิ่น หรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของที่ดิน โดยรัฐช่วยสนับสนุนรายได้เพื่อทดแทนในส่วนที่เจ้าของที่ดินสูญเสียไปจากการทำเกษตรกรรม และสร้างรายได้ชดเชยให้แก่เจ้าของที่ดินโดยการจ้างปลูกป่าและรักษาสภาพป่า ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือช่วยลดภาระและค่าใช้จ่ายของรัฐในการดูแลทรัพยากรป่าไม้ ขณะเดียวกันสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อฟื้นฟูและสร้างความแข็งแรงให้กับระบบนิเวศได้ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรได้ในระยะยาว
Facebook Comments Box