
องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 17 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันขจัดความยากจนสากล (International Day for the Eradication of Poverty) ซึ่งรัฐบาลจีนได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็น “วันแก้จนแห่งชาติจีน” เมื่อปี 2014 โดยจีนตั้งเป้าจะขจัดความยากจนให้หมดประเทศภายในปี 2020 นี้ ตั้งแต่ปี 2015 ธนาคารโลกได้กำหนดเส้นมาตรฐานความยากจนโดยพิจารณาจากรายได้ขั้นต่ำวันละ 1.9 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 59 บาท) ขณะที่ในปี 2016 จีนกำหนดรายได้ขั้นต่ำของเกษตรกรต่อปี 3,000 หยวน หรือวันละ 8.22 หยวน (ราว 41 บาท) นับจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีนครั้งที่ 18 เมื่อปี 2012 เป็นต้นมาจนถึงปลายปี 2019 มีชาวชนบทที่ยากไร้หลุดพ้นจากความยากจนกว่า 93.48 ล้านคน อันเป็นผลมาจากการ “ทำสงครามกับความยากจน” อย่างจริงจังของจีน หัวใจหลักของความสำเร็จมาจากการที่จีนใช้ยุทธศาสตร์แก้จนแบบตรงจุด (精准扶贫) และดำเนินการแบบปูพรมลงลึกถึงระดับหมู่บ้าน ซึ่งนับตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคฯ เมื่อปี 2012 เป็นต้นมา จีนได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติงานในถิ่นทุรกันดาลแล้วกว่า 3 ล้านคน โดยมีข้าราชการเจ้าหน้าที่เฉลี่ย 3 คนที่จะประจำการอยู่ในหมู่บ้านยากจน 1-3 ปี ทำหน้าที่ช่วยวิเคราะห์ความต้องการของครัวเรือน จัดทำแผนการพัฒนากับครอบครัว ประสานทรัพยากรการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งทำให้สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ในระดับรายบุคคล ครอบครัว ชุมชน และหมู่บ้าน “สองไร้กังวล สามหลักประกัน (两不愁 三保障)” คือหลักการขจัดความยากจนที่จีนต้องทำให้สำเร็จภายในปี 2020 เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นสังคมกินดีอยู่ดีอย่างรอบด้าน โดย “สองไร้กังวล” หมายถึง ไม่ต้องกังวลเรื่องอาหารการกินและเครื่องนุ่งห่ม ส่วน “สามหลักประกัน” ได้แก่ หลักประกันด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และที่อยู่อาศัย จะเห็นได้ว่า หลักการ “สองไร้กังวล สามหลักประกัน” แท้จริงแล้วคือการมุ่งเติมเต็มปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์นั่นเอง ขณะเดียวกัน โอกาสที่มากขึ้นในพื้นที่ชนบท ยังดึงดูดให้คนหนุ่มสาวไม่ต้องละทิ้งบ้านเกิด และหันมาสร้างงานสร้างอาชีพในท้องถิ่นที่ตนอาศัยแทน แนวทางการลดความยากจนแบบตรงจุดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของจีน คือ ผู้นำให้ความสำคัญและภาครัฐลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ยกให้เป็นวาระสำคัญระดับชาติ อีกทั้งบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน สร้างระบบที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานและวัดผลได้ตั้งแต่ระดับมหภาคไปจนถึงระดับจุลภาค ชาวจีนหลุดพ้นความยากจนเฉลี่ยปีละ 13 ล้านคน เมื่อปลายปี 2012 ชาวชนบทผู้ยากจนของจีนมีจำนวน 98.99 ล้านคน ลดลงเหลือเพียง 5.51 ล้านคนในปลายปี 2019 หรือเฉลี่ยลดลงปีละ 13 กว่าล้านคน เท่ากับว่าในทุก 1 นาทีมีชาวจีนหลุดพ้นจากความยากจนเกือบ 30 คน ขณะที่อัตราการเกิดความยากจนลดลงจากร้อยละ 10.2 เหลือเพียงร้อยละ 0.6 ความยากจนองค์รวมในท้องที่ได้รับการแก้ไขในระดับพื้นฐาน เมื่อปี 2016 ประชากรผู้ยากจนของจีนมีรายได้สุทธิปีละ 4,124 หยวน (ราว 20,620 บาท) เพิ่มขึ้นเป็น 9,057 หยวน (ราว 45,285 บาท) ในปี 2019 คิดเป็นอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 30 ต่อปี ผู้ยากจนทั่วประเทศได้รับการแก้ไขปัญหาตามหลักการ “สองไร้กังวล สามหลักประกัน” อย่างชัดเจน ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ชาวจีนผู้ยากจนจำนวนกว่า 9.60 ล้านคนได้รับการโยกย้ายไปยังที่พักอาศัยใหม่รวม 2.66 ล้านหลัง โดยจีนได้จัดสรรเขตถิ่นฐานใหม่ทั่วประเทศกว่า 35,000 แห่ง จนถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 อำเภอในชนบท 780 แห่งได้ประกาศหลุดพ้นจากความยากจน โดยอำเภอยากจนเหล่านี้กระจายตัวอยู่ใน 22 มณฑล/เขตปกครอง ได้แก่ เหอเป่ย ซานซี มองโกเลียใน จี๋หลิน เฮยหลงเจียง อันฮุย เจียงซี เหอหนาน หูเป่ย หูหนาน กว่างซี ไหหลำ ฉงชิ่ง เสฉวน กุ้ยโจว ยูนนาน ทิเบต ส่านซี กานซู่ ชิงไห่ หนิงเซีย และซินเจียง จนถึงสิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 มีการปล่อยสินเชื่อขนาดเล็กเพื่อแก้จนสะสมรวมกันเกือบ 500,000 ล้านหยวน สร้างประโยชน์แก่ผู้ยากจนกว่า 11 ล้านครัวเรือน ปัจจุบัน ยังมีอำเภอที่ยากจนอยู่อีก 52 แห่ง ต่างได้รับการพัฒนาอุตสาหกรรมหลัก 100 กว่าประเภท ซึ่งจะช่วยสร้างงานแก่ผู้ยากจนกว่า 3 ล้านคน เพิ่มรายได้เฉลี่ยกว่า 1,700 หยวนต่อคน ในจำนวนนี้มี 2 ใน 3 ถูกขับเคลื่อนด้วยธุรกิจรูปแบบใหม่ ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ประชากรผู้ยากจนของจีนมีจำนวนลดลงสะสมกว่า 700 ล้านคน ได้ช่วยลดสัดส่วนผู้ยากจนทั่วโลกกว่าร้อยละ 70 โดยจีนมีความมั่นใจว่าจะขจัดความยากจนได้ทั้งหมดภายในสิ้นปี 2020 นี้ ซึ่งนับว่า จีนสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติด้านการขจัดความยากจนให้หมดไปจากโลกในปี 2030 ได้เร็วกว่ากำหนดถึง 10 ปี ไทยถอดต้นแบบขจัดความยากจนจากจีน จากความสำเร็จของจีน ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ของไทย จึงได้ศึกษาและถอดบทเรียน “การแก้จนแบบตรงจุดของจีน” เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดย อว. ได้วางระบบบริหารจัดการการขจัดความยากจนแบบตรงเป้าหมาย ผ่านการตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนแห่งชาติ และคณะกรรมการขจัดความยากจนระดับจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ภาคเอกชน ชุมชน และสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจะมีบทบาทในการรวบรวมข้อมูลเชิงพื้นที่และใช้คัดเลือกกลุ่มประชากรที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือในแต่ละระดับ ตลอดจนช่วยออกแบบวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมและตรงจุดกับหมู่บ้าน โดยอาจออกแบบโมเดลในลักษณะ 1 ภาควิชา 1 หมู่บ้าน ฯลฯ สำหรับ Roadmap ขจัดความยากจนของประเทศไทย สามารถสรุปเป็น 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย
- นโยบายระดับประเทศโดยจัดตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนระดับชาติ จัดตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนระดับจังหวัด
- เก็บข้อมูลเชิงปริมาณโดยการเก็บข้อมูลสำมะโนครัวเรือนยากจน สำรวจข้อมูลพื้นฐานอย่างละเอียด ผ่านทางบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) รวมทั้งส่งนักศึกษา และอาจารย์ลงพื้นที่
- ลงพื้นที่ระบุปัญหาโดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐ และ ธกส. 1,000 คน เกาะติดครัวเรือน 1-3 ปี เพื่อศึกษาปัญหาและพัฒนาโครงการของบประมาณ และสร้างกลไกส่งนักศึกษาลงแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยบรรจุเป็นวิชาเลือกนับหน่วยกิตได้
- ขับเคลื่อนโครงการโดยการสร้างกลไกให้ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่ และ
- การติดตามประเมินผลโดยใช้กลไกคณะกรรมการระดับจังหวัดรายงานรายได้และสัดส่วนคนยากจนในพื้นที่ต่อคณะกรรมการระดับชาติผ่านรายงานประจำปี (The Poverty Monitoring Report)
เมื่อพิจารณาจากโมเดลการแก้จนของรัฐบาลไทยแล้ว เห็นได้ว่าใช้ “การแก้จนแบบตรงจุดของจีน” เป็นต้นแบบ และนำมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของไทย อย่างไรก็ตาม ไทยจะสามารถทำได้สำเร็จอย่างจีนหรือไม่ ลำพังแค่การ “ก๊อปบี้โมเดล” คงไม่เพียงพอ ยังต้องลงมือปฏิบัติอย่างทุ่มเทจริงจัง พร้อมทั้งบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมเช่นเดียวกันจีนด้วย . คำอธิบายภาพประกอบ: ตั้งแต่ปี 2012 – 2019 ชาวชนบทผู้ยากจนของจีนหลุดพ้นจากความยากจนเฉลี่ยปีละ 13 กว่าล้านคน เท่ากับว่าในทุก 1 นาทีมีชาวจีนหลุดพ้นจากความยากจนเกือบ 30 คน ภาพประกอบจาก newssc.org . ที่มาข้อมูล: http://www.gov.cn/xinwen/2020-01/24/content_5471927.htm http://news.cnwest.com/szyw/a/2020/10/17/19191350.html https://www.mhesi.go.th/home/index.php/pr/news/1606-5-2563
Facebook Comments Box