ปาฐกถาพิเศษ นายบัณฑูร ล่ำซำ---- ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในงานสัมมนายุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ 1 วันที่ 25 สิงหาคม 2555
บทบาทของเงินหยวนในโลกของการค้า เราควรเตรียมตัวรับมือกับเงินหยวนที่เข้ามามีบทบาทในเชิงเศรษฐกิจของโลกอย่างไร โลกนี้ค้าขายเป็นปกติ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเงินหยวน โลกปัจจุบันมีมากกว่า 1 ขั้ว ขั้วฝรั่ง ขั้วจีน ขั้วแขก โลกที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของคนทั้งหลาย เรื่องการเมืองยังอีกไกล สิ่งที่เราต้องหายใจอยู่ทุกวัน คือ การค้าขาย หากค้าขายติดขัดก็จะพูดกันไม่รู้เรื่อง ในโลกที่เปิดกว้างมีจีน แขก AEC ชีวิตจะดีขึ้นหรือเลวลง
แค่ช่วงศตวรรษ ในปี ค.ศ. 2000 ขนาดเศรษฐกิจของจีนมีขนาดแค่ 10 % ของสหรัฐฯ ซึ่งขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐ คิดเป็น 3.7% ของเศรษฐกิจโลก หรือ 1 ใน 3 ของโลก ญี่ปุ่นมีขนาด 15% ต่อมาอีก 10 ปีให้หลัง ในปี ค.ศ. 2011 เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงมีขนาดใหญ่อยู่ แต่เศรษฐกิจของจีนมีขนาดเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 10 ของโลก (ที่ 2 รองจากสหรัฐฯ) การค้าระหว่างจีนกับไทยมีการเจริญเติบโตจาก 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2000 มาเป็น 64.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2011 โดยเฉลี่ยมีการเติบโต 23% ในรอบ 10 ปี ส่วนการค้าขายจีน – อาเซียน มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยใกล้เคียงกับจีนและไทย คือ 22% จาก 39.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2000 มาเป็น 362.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2011 ทุกวันนี้จากเดิมในปี ค.ศ. 2000 ที่จีนมีการค้ากับอาเซียนคิดเป็น 4% กลายเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดถ้าไม่นับการค้าในอาเซียนกันเอง แต่ในปี ค.ศ. 2011 คิดเป็น 11% ของการค้า แซงหน้าประเทศแถบยุโรป และญี่ปุ่น
การลงทุนตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment, FDI) ที่ผ่านมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเติบโตด้วยเงินทุนจากฝั่งตะวันตกเสียส่วนใหญ่บวกญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นกลับมาแข็งแกร่งขึ้น พึ่งพาการส่งออกและพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศ ที่ทำให้เกิดกิจกรรมและพละกำลังที่ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้คนมีงานทำ มีการพัฒนากินดีอยู่ดีขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นความสามารถในการส่งออกก็ดี หรือเป็นที่ดึงดูดของการลงทุนของเงินทุนต่างชาติ สร้างโรงงาน สร้างบริษัทต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญของการดูแลความเป็นอยู่ของคนในประเทศนี้ เศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นเรื่องของฝรั่งและญี่ปุ่น ซึ่งกว่า 30 ปีมาแล้ว รถยนต์ก็สร้างโรงงานที่ประเทศไทย พอรถยนต์มาชิ้นส่วนรถยนต์ก็มา ดังนั้น การที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการสร้างรถยนต์ ทำให้ยกระดับของเศรษฐกิจของประเทศไทยมาโดยตลอด 40 ปีที่ผ่านมา จีนเพิ่งเข้ามาในช่วง 3 - 4 ปี ในเรื่องของการลงทุน จีนลงทุนชี้แนะโดยรัฐบาลจีน รัฐบาลจีนเพิ่งมีนโยบายให้บริษัทจีนใหญ่ๆ ที่มีทุนมหาศาล เริ่มออกไปวางยุทธศาสตร์การลงทุนทั่วโลก และเริ่มมีชื่อขึ้นมาบ้าง การลงทุนเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าเงินลงทุนเข้ามากจะทำให้มีการจ้างงาน มีการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศต่างๆ จึงแข่งกันดึงเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศของตนเอง ทั้งเงื่อนไข สภาพแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้ทุนทั้งหลายเลือกประเทศของตนเอง หากถามว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางประเทศที่ดึงดูดในอาเซียนหรือไม่ ก็ถือว่าเป็นแต่ไม่ใช่เพียงประเทศเดียว มาเลเซีย อินโดนีเซียก็ดึงดูดได้ บางประเทศใหม่ๆ ดึงดูดด้วยเงื่อนไขของค่าแรงต่ำๆ เช่น เวียดนาม กัมพูชา พม่า เป็นต้น จึงเป็นภาพที่สะท้อนถึงพลังของเศรษฐกิจจีนว่าเป็นมหาอำนาจ
มีนิตยสารชื่อว่า The Economist ขึ้นหน้าหนึ่งว่าบริษัท Huawei บริษัทจีนที่ทำให้ทุกคนตกใจ ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่มากของจีน ลงทุนในเรื่องอุปกรณ์โทรคมนาคม เป็นโจทย์ใหม่ที่สะท้อนว่าทำอย่างไรจะให้เปิดความไว้วางใจในโลกใหม่ที่มีจีนเป็นมหาอำนาจใหม่ ทำความเข้าใจและสร้างความไว้วางใจกันในการที่จะค้าขายกันได้ มิฉะนั้นจะนำไปสู่ความตึงเครียด ข้างหนึ่งก็กล่าวว่าจะต้องเปิดเสรีการค้า WTO แต่อีกข้างหนึ่งก็กลัวว่าเครื่องมือที่ซื้อมานั้นจะมีอะไรแอบแฝงที่ไม่มีใครเข้าใจ ทำอย่างไรถึงจะกระโดดข้ามความไม่ไว้วางใจที่มีอยู่ โดยเฉพาะการแข่งกันในทางอิทธิพล การเมือง การฉกชิงพื้นที่ ที่ทำให้ระดับความไว้วางใจจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว (HQU) ก็เป็นอีกจุดเริ่มต้นหนึ่งของการสร้างความรู้ที่เป็นจีน สะท้อนว่าจีนไม่ได้มองแค่ประเทศไทยเท่านั้น มองอาเซียนโดยรวมด้วย ที่บริษัทจีนมาลงทุนในไทยคิดเป็น 7% ซึ่งเป็นรองญึ่ปุ่นที่เป็นหลักใหญ่ในการลงทุนสร้างเศรษฐกิจของไทย แต่จีนอาจจะแซงหน้าญี่ปุ่นในอนาคต
ในฐานะธนาคารก็ต้องมีการปรับตัวเช่นกัน ทั้งในเรื่องการลงทุนของผู้ประกอบการจีน ธุรกิจจีน บริษัทใหญ่ๆ ที่เริ่มแผ่อำนาจทางเศรษฐกิจเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน ทำไมจีนถึงเริ่มลงทุนมากขึ้น ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะต้องการวัตถุดิบป้อนกลับไปในประเทศ การบริโภคของประชาชนในประเทศต่างๆ คิดเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจประเทศนั้น เช่น สหรัฐฯ การบริโภคเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงของประเทศ (GDP) เท่ากับ 71% ต่ำที่สุดคือ จีน 35% เนื่องจากอดีตคนต้องประหยัด ไม่ได้ใช้จ่ายมากมาย พึ่งการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น ให้กำลังซื้อของคนในประเทศที่มีมากขึ้นเป็นตัวผลักดัน ไม่พึ่งตลาดต่างประเทศอย่างเดียว เป็นนโยบายของทั้งโลกที่เน้นไปในทางนี้ เพราะตลาดต่างประเทศมีการผันผวน จีนเริ่มใช้การบริโภคภายในประเทศเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย เพราะจีนเป็นประเทศที่พึ่งการส่งออกมาโดยตลอด ช่วงหลังพึ่งน้อยลง เริ่มมีการลงทุนในต่างประเทศด้วย เพื่อนำทรัพยากรกลับไปบริโภคภายในประเทศ ถ้าสมมุติมองไปข้างหน้า 25 ปี ตามที่นักวิชาการประมาณการ สัดส่วนเศรษฐกิจของโลกในปี ค.ศ. 2025 ญี่ปุ่นจะเหลือแค่ 5% แต่จีน (22%) จะใหญ่กว่าสหรัฐฯ (18%) หนี้ต่อ GDP ของจีนยังถือว่าต่ำ ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่น คิดเป็น 43% ญี่ปุ่นมีหนี้สูงสุด คือ 208.2% แต่เป็นหนี้ของรัฐบาล ส่วนสหรัฐฯ มีหนี้ต่อ GDP คิดเป็น 69.4% เพราะฉะนั้น โดยพลังของขนาดก็ดี พลังของเศรษฐกิจของจีนก็ดี น่าจะเป็นไปได้ว่าเงินหยวนน่าจะมีบทบาทไม่เฉพาะแต่ประเทศจีนเท่านั้น น่าจะเป็นเงินของโลกเพราะดูจากขนาดของเศรษฐกิจ
การหมุนเวียนขนาดการค้าของโลก ในปี ค.ศ. 2011 ไทย – โลก คิดเป็น 457 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไทย – จีน คิดเป็น 65 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ จีน – โลก คิดเป็น 3,642 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยการตกลงในการซื้อขายหรือชำระสิ้นค้าทางการค้าของทั้งโลกส่วนใหญ่ทำอยู่ 2 สกุล คือ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (42.5%) และสกุลเงินยูโร (19.6%) เงินหยวนยังไม่มีบทบาท เนื่องจากรัฐบาลจีนยังไม่เปิดโอกาสให้เงินหยวนเป็นเงินที่แลกเปลี่ยนกันโดยปกติ เป็นเงินที่ถูกควบคุมอยู่ รัฐบาลจีนต้องเดินอย่างระมัดระวัง จากประสบการณ์เมื่อ 100 ปีก่อนที่จีนถูกรังแก ถูกยึดแบ่งดินแดนเป็นชิ้นๆ ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ถือว่าเป็น The century of humiliation ทั้งโลกมารังแก ดังนั้นจึงต้องระวัง เศรษฐกิจที่ไม่มีกรอบกติกาที่กำกับก็สามารถพังได้ด้วยเงินทุน เช่น วิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง ส่วนหนึ่งเพราะเงินวิ่งเข้ามา ปั่นตัวเลข ราคาหุ้น ราคาที่ดินต่างๆ ขึ้นไปจนกระทั่งเกินความเป็นจริง ซึ่งในคณะนั้นระบบการจัดการของฝั่งไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ไม่ได้เคยจินตนาการว่าจะเป็นอย่างนั้น ไม่รู้ว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นเงินทุนสากลที่วิ่งไปอย่างไม่มีพรมแดน ไม่สนใจว่าใครสีอะไร หาผลตอบแทนเพียงอย่างเดียวเป็นสิ่งที่น่ากลัว ถึงเข้าใจว่าทำไมรัฐบาลจีนถึงต้องระมัดระวังในการที่จะเปิดระบบการเงินของตัวเอง ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นมหาอำนาจในทุกด้านในขณะนี้ เพราะจีนก็มีโจทย์อยู่แล้ว ทั้งเงินเฟ้อในบางจุด ราคาอสังหาริมทรัพย์บางจุดที่ซื้อกันไม่ได้ ทั้งเรื่องส่งออกบางจุดก็เริ่มถดถอย และที่สำคัญคือความต่างกันระหว่างความรวยของคนมากขึ้น
พ่อค้าไทยใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ 80% สกุลเงินเยน 7% และสกุลเงินบาท 6% สาเหตุที่ใช้เงินดอลลาร์เพราะเข้าใจง่าย กล้าทำ ควบคุมความเสี่ยงได้ การใช้เงินหยวนมีบ้างแต่ต้องเป็นคู่ค้าที่อนุญาตโดยรัฐบาลจีนเท่านั้น ถึงจะมีสิทธิ์ค้าขายกับโลกที่ใช้เงินหยวนเป็นตัวจ่ายค่าสินค้ากันได้ ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ ส่วนใหญ่ที่มีการใช้เงินหยวนนั้นเป็นเรื่องของการลงทุนมากกว่าแทนที่จะเป็นเรื่องของการค้า การซื้อสินค้าใช้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการลงทุน 90% แต่ก็มีการขยับในเรื่องของความคิดมาเป็นลำดับในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากมีการทดลองโครงการนำร่อง (Pilot Program) ที่จะค้าขายกับผู้ประกอบการจีนบางรายที่ได้ถูกกำหนดโดยรัฐบาลจีนแล้ว เรียกว่า MDE (Mainland Designated Enterprise) มีอยู่ 20 มณฑลในประเทศจีน รวมกันประมาณ 10,000 ราย ณ ขณะนี้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีนให้สามารถที่จะค้าขายกับต่างชาติเป็นเงินหยวนได้ คือ ในสัญญาซื้อขายสินค้า โค้ดราคากันเป็นเงินหยวนได้ และเมื่อปลายปีที่แล้วเรียกว่า Yuan – Baht Direct Quotation คือ เข้าไปในระบบการค้าขายเงินระหว่างประเทศ จะมีราคาซื้อขายเงินบาท – หยวน อยู่ แต่ไม่มีธุรกรรมเท่าไรนัก และอัตราที่โค้ดก็อาจไม่ใช่ราคาที่ดีที่สุดของคนที่จะไปซื้อหรือขาย แต่มีให้เห็น สำหรับผู้ประกอบการไทย ต้องมีธุรกรรมรองรับ จะไปเก็งเงินหยวนเฉยๆ ไม่ได้ ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำเช่นนั้น ต้องมีการค้าขายจริงๆ ถึงจะมีการซื้อขายเงินหยวนได้ นอกจากนี้ เมื่อปลายปีที่แล้วอีกเช่นกัน มีการเซ็นสัญญาระหว่างธนาคารกลางของประเทศจีน (People’s Bank of China) กับธนาคารแห่งประเทศไทย ให้มีวงเงินประมาณ 70 พันล้านหยวน หรือประมาณ 320 พันล้านบาท ใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนได้ เพื่อสนับสนุนการค้า ต่อมาได้มีการตั้งทีมศึกษาและทดลองการใช้เงินหยวนกับเงินบาทในการค้า โดยเลือกทำกับ 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์-เตอร์ด ปัญหาเทคนิคที่เป็นประเด็นที่จะใช้เงินหยวนในการค้าขายนั้น ที่พูดถึง Mainland Designated Enterprise หรือ MDE ในเมืองจีน มีแต่หาไม่เจอ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เพราะใช้ภาษาจีน จีนมีกฎกติกาทางกฎหมายของรัฐบาลจีนว่าหากพลาดจะต้องหยุดธุรกรรมนั้นทันที เป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อลดความกลัวของความเสี่ยงก่อนที่จะเกิดธุรกรรม การโค้ดราคาของเงินดอลลาร์ – เงินบาท เป็นการโค้ดเงินที่แคบ ราคาซื้อและราคาขายต่างกันนิดเดียว ในโลกของการเงินต้องการโค้ดให้แคบเนื่องจากทำให้การซื้อขายคล่องตัว ส่วนการโค้ดเงินบาท – เงินหยวน ยังห่างมาก การกู้เงินเพื่อสนับสนุนการค้าที่เป็นดอลลาร์สหรัฐ ได้ดอกเบี้ยถูกกว่าเงินหยวน วิธีการบริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging Instrument) เงินบาท – ดอลลาร์ มีอยู่ทั่วไป แต่เงินหยวนไม่มี ฉะนั้นถือเป็นอุปสรรคโดยธรรมชาติ เป็นประเด็นทางเทคนิคที่ไม่ได้แก้ยาก เมื่อถึงจุดหนึ่งที่มีการค้าขาย ก็จะมีการพัฒนาที่เอื้ออำนวยมากขึ้น ยิ่งพอมีธุรกรรมเกิดขึ้น ธนาคารต่างๆ ก็คิดเครื่องมือที่จะบริหารความเสี่ยงให้ลูกค้าได้มีโอกาสเลือกมากขึ้น สรุปคืออยู่ที่การเตรียมตัวค้าขายกันจะสำคัญกว่า การค้าขายเป็นเงินยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สุด แต่การเตรียมการให้มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน สามารถค้าขายด้วยสินค้าที่ทั้งสองฝ่ายพอใจกันได้ ก็สามารถที่จะคุยกันได้เป็นปกติ เป็นเพื่อนกัน น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่เตรียมการในตอนนี้
Facebook Comments Box