ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่ง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(ว.ช.) ร่วมกับสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน และ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว สาธารณรัฐประชาชนจีน จัดงานสัมมนายุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 1 ในระหว่างวันที่ 24 -26สิงหาคม 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ไทย-จีน และนำองค์ความรู้จากผลการวิจัยไปใช้ในการพัฒนานโยบายระดับประเทศ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยยุทธศาสตร์ระหว่าไทย-จีน โดยมีนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ นักธุรกิจทั้งจากไทยและจีนกว่า 1,000 คนเข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้
ในการนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเป็นองค์ประธานเปิดงานสัมมนา และทรงพระอักษรพู่กันจีนมีข้อความว่า "ไทย-จีนมิตรผูกพัน" (泰中-家亲) ภายในงานสัมมนาได้มีบุคคลสำคัญทั้งในภาคธุรกิจ ภาคราชการและภาควิชาการขั้นกล่าวแสดงปาฐกถาพิเศษดังนี้
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถา หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ไทย – จีน ด้านธุรกิจ”
ดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวปาฐกถา หัวข้อ “มุมมองความร่วมมือไทย – จีน ด้านการค้าโลก”
ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวปาฐกถา หัวข้อ “ความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน – จีน”
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวปาฐกถา หัวข้อ “ยุทธศาสตร์เงินบาท-หยวน”
ดร. โอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวปาฐกถา หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ไทย – จีน ด้านเศรษฐกิจการค้าในบริบทที่ไทยเป็นหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”
ศาสตราจารย์ ดร. กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวปาฐกถา หัวข้อ “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทย-จีน: โอกาสและอุปสรรค”
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการนำเสนอบทความทางวิชาการจากนักวิจัยทั้งฝ่ายไทยและจีน โดยแบ่งการนำเสนอเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่
๑. การท่องเที่ยวและความปลอดภัยทางสาธารณะ (Tourism and Public Safety)
๒. การค้า การลงทุนและการเงิน (Commercial, Investment and Finance)
๓. วัฒนธรรมและการศึกษา (Culture and Education)
๔. อาหาร (Food)
โดยมีนักวิจัยเข้าร่วมเสนอบทความทางวิชาการรวมทั้งสิ้น 56 คน แบ่งเป็น 11 ห้องสัมมนาย่อย นับว่าการสัมมนาครั้งนี้ได้ประสบความสำเร็จสมตามวัตถุประสงค์ เป็นการเริ่มต้นจุดประกายความร่วมมือด้านการวิจัยทางยุทธศาสตร์ระหว่างนักวิจัยจากประเทศไทยและจีน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ และสามารถนำไปใช้ในระดับนโยบายได้ต่อไป
สำหรับเอกสารประกอบการสัมมนายุทธศาสตร์ไทย -จีน ครั้งที่ 1 สามารถดาวน์โหลดได้ที่
http://www.nrct.go.th/th/NewsManager/tabid/78/ctl/ArticleView/mid/388/articleId/235/----1.aspx#.UHfUda66SSo
Facebook Comments Box